พื้นที่ชายแดน ชายขอบของประเทศไทย หลายแห่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและคนไทยชาติพันธุ์ต่างๆ บางพื้นที่ห้อมล้อมด้วยป่าเขา บางแห่งถูกกั้นด้วยห้วยน้ำลำธาร การเข้าถึงหรือออกจากพื้นที่ป่าเขาเพื่อรับบริการจากภายนอก จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก
บ้านปาเกอะญอ จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ห่างไกลยากแก่การเดินทางเข้าและออกจากหมู่บ้าน ด้วยเส้นทางถนนลูกรัง พาดผ่านเขาที่คดเคี้ยว และยังต้องผ่านด่านลำธารน้ำตกอีก 2 ห้วย ไปสู่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อินทรีอาสา จากห้องอนามัยพยาบาลเล็กๆ นำมาจัดตั้งเป็นศูนย์สุขศาลาพระราชทาน ซึ่งประชาชนใน พื้นที่ได้เข้ามารับบริการมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารใหม่ เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานบริการของศูนย์สุขศาลาพระราชทาน บ้านปาเกอะญอ เพื่อบริการสาธารณสุขเบื้องต้น ให้ความสะดวกและบริการแก่ประชาชนบ้านปาเกอะญอและคนในหมู่บ้านใกล้เคียงได้มากยิ่งขึ้น
“บ้านป่าหมาก” ชุมชนเล็ก ๆ กลางป่าใหญ่ในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวชุมชน “บ้านป่าหมาก” เป็นของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ที่อยู่ท่ามกลางป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์ ตัวชุมชนนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ริมคลองตะลุยแพรกซ้าย ชาวบ้านใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เป็นพื้นที่ชายแดน เส้นทางเข้า-ออก เดินทางขึ้น-ลงเขาที่มีความคดเคี้ยว ถนนลาดยางสลับคอนกรีต และถนนดินเป็นบางช่วง (ระยะทางจากถนนเพชรเกษม ถึงบ้านป่าหมากประมาณ 53 กม.)
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปาเกอะญอ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสุขศาลาพระราชทาน ที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เพื่อให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแบบผสมผสาน แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และแนวชายแดน
สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หมายถึง สถานบริการสาธารณสุข ที่ให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแบบผสมผสาน ทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสภาพ การป้องกันและเฝ้าระวังโรค ที่จัดให้มีขึ้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในชุมชนและในเขตพื้นที่เฉพาะกิจ พื้นที่เสี่ยงภัย โดยครูพยาบาลตำรวจตระเวนชายแดนร่วมมือกับเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่และการมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ NT เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจการสุขศาลา พระราชทานรวมทั้งกิจการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 บทบาทที่สำคัญของ NT เริ่มต้นจากการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสาร ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแต่ละแห่ง ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรืออยู่บริเวณริมตะเข็บ ชายแดนที่ไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆ เข้าถึง
NT ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์สื่อสาร ผ่านดาวเทียม IP-Star อุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wireless Access Point) และ โทรศัพท์ เพื่อช่วยให้การติดต่อสื่อสารและประสานงานที่ดีขึ้น
โลกแห่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว NT ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Web Conference นำมาใช้สนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้พัฒนาระบบและ โปรแกรมการสื่อสารทางไกลผ่านภาพและเสียง หรือ “เทเลเมดดิซีน” (Telemedicine) ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
โครงการสุขศาลาพระราชทาน ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งในด้านของการบริการ โทรคมนาคมสนับสนุนการทำงานของคนในพื้นที่และประชาชนผู้รับบริการ NT ยังคงดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะขยายการให้บริการสื่อสารครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ประชาชนชายขอบ ให้ได้รับโอกาสการใช้เทคโนโลยีเข้าถึงบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป