บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาครัฐ เอกชน ประชาชน โดย NT ให้ความสำคัญและพร้อมเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและให้บริการสถานีวิทยุเรือเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและประกาศข่าวแจ้งเตือนไปยังเรือเดินทะเลพร้อมระบบการสื่อสารประสานให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเรือไทย
สถานีวิทยุเรือ หรือ Bangkok Radio คือสถานีวิทยุชายฝั่งของประเทศที่ติดต่อเรือเดินทะเล มีหน้าที่ ประกาศข่าวชาวเรือเกี่ยวกับข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเล (MSI: Maritime Safety Information) และเป็นศูนย์ประสานงานเฝ้าฟังรับแจ้งอุบัติเหตุเรือประสบภัย (Alerting Post Unit) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทำหน้าที่นำข้อมูลข่าวในพื้นที่รับผิดชอบ แจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กระทรวงสาธารณสุข กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงการต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ฯลฯ ผ่านระบบ MSI Platform เพื่อจัดทำประกาศคำเตือนเพื่อการเดินเรือ ประกาศชาวเรือ และประกาศข่าวแก่เรืออย่างทั่วถึงผ่านระบบวิทยุสื่อสารย่านความถี่วิทยุ VHF, MF, HF, CB ระดับท้องถิ่น
ปัจจุบันนี้ NT อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปรับปรุงระบบวิทยุติดต่อเรือเดินทะเล (VHF) ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ โดยมุ่งเป้าพัฒนาการให้บริการด้วยระบบสื่อสารเพื่อการป้องกันภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลระหว่างประเทศ (Global Maritime Distress and Safety System : GMDSS) ตามมาตรฐานขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ซึ่งจะสามารถรวบรวมข้อมูลตำแหน่ง ที่ตั้ง เพื่อกระจายข่าวให้แก่เรือตรงตามพื้นที่ที่ต้องการ ตามระดับพื้นที่รับผิดชอบของเนื้อข่าว ไม่ว่าจะเป็นระดับท่าเรือ ระดับท้องถิ่น และระดับสากล พร้อมทั้งประสานงานไปยังหน่วยงานการออกอากาศที่เกี่ยวข้อง (Broadcast Coordinator) ผ่านระบบ MSI Platform
สำหรับระบบ Global Maritime Distress and Safety System (GMDSS) ตามโครงการปรับปรุงวิทยุเรือเดินทะเลจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักในการทำงาน ได้แก่
1. ระบบประกาศข่าวชาวเรือ NAVigational TEleX (NAVTEX) เป็นระบบสำหรับประกาศข่าวสารที่สำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการเดินเรือ เช่น ข่าวสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข่าวการซ้อมรบจากกองทัพเรือ เป็นต้น โดยจะมีช่วงเวลาในการออกอากาศตามที่ IMO กำหนด
2. ระบบติดต่อวิทยุเรือความถี่ย่าน VHF ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับชายฝั่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือภัยต่างๆ ในทะเล โดยระบบสามารถรับข้อความขอความช่วยเหลือ (DSC Message) แสดงตำแหน่งและข้อมูลของเรือในเขตน่านน้ำประเทศไทย และติดต่อสื่อสารด้วยเสียงผ่านคลื่นความถี่ VHF (Radio Telephony) เพื่อการเฝ้าฟังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้อย่างรวดเร็ว
3. ระบบ Automatic Identification System (AIS) เป็นระบบสำหรับติดตามเรือเดินทะเล โดยระบบจะสามารถแสดงตำแหน่งและข้อมูลที่สำคัญของเรือทุกลำที่ติดตั้งระบบ AIS เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบเหตุทางทะเล รวมทั้งสามารถเฝ้าระวังและติดตามเรือเพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมเรือ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันอาชญากรรมทางทะเลได้ด้วยศักยภาพในการให้บริการของ NT ที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อทั้งในและระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ จากการที่ NT ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแลในส่วนของวงจรสื่อสารผ่านดาวเทียมพร้อมระบบบริหารโครงข่ายให้กับสถานีวิทยุเรือ NT จึงมีแผนในอนาคตที่จะนำระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาบูรณาการเพื่อพัฒนาการให้บริการ “NAVA” หรือระบบสื่อสารความเร็วสูงผ่านดาวเทียมทางทะเลผ่าน GMDSS ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเดินเรือและอุตสาหกรรมนอกชายฝั่ง (Offshore) ให้บริการแบบครบวงจรเพื่อการรับส่งข้อมูล สำหรับเชื่อมต่อการสื่อสารให้กับลูกเรือและผู้โดยสาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและสร้างมั่นใจด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
การให้บริการวิทยุเรือของ NT นี้ เป็นบริการที่ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงทหารเรือในปี 2456 และต่อมาได้โอนหน้าที่ความรับผิดชอบมาสู่กรมไปรษณีย์โทรเลข การสื่อสารแห่งประเทศไทย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นลำดับ ถึงแม้บริการนี้จะไม่คุ้มค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่หวังผลกำไรตอบแทน แต่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่นำมาซึ่งความภูมิใจแก่องค์กรและผู้ปฏิบัติงานในฐานะหน่วยงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแล อำนวยความสะดวก เฝ้าระวัง และช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว เรือโดยสาร เรือสินค้า และเรือประมงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานราว 100 ปี